อริยสัจ4
ทุกข์
๑. ทุกข์ (Suffering) รู้ว่าอะไรคือความทุกข์ ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นธรรมดาของชีวิต และความเศร้าโศก ความระทมใจ ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ซึ่งมีแก่จิตใจและร่างกายเป็นครั้งคราว ความประจวบกับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบ ความไม่สมหวัง กล่าวโดยย่อความทุกข์เกิดขึ้นกับกาย วาจาใจเราอาจจะจำแนกทุกข์ได้ดังนี้
๑. สภาวะทุกข์ทุกข์ประจำสังขาร ได้แก่
– ชาติทุกข์ ทุกข์จากการเกิด
– ชราทุกข์ ทุกข์เกิดจากความเสื่อมโทรมของสังขาร
– มรณะทุกข์ ทุกข์เกิดจากการตาย๒. ปกิณณกทุกข์ ทุกข์จร ได้แก่ โสกะความเศร้าใจ ปริเทวะ ความคร่ำครวญ ความรำพันด้วยความเสียใจ ทุกข์โทมนัส อุปายาส ความแค้นใจ
๓. นิพันธทุกข์ ทุกข์ประจำได้แก่ ความหนาว ร้อน หิวกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ
๔. พยาธิทุกข์ ได้แก่ความเจ็บไข้ได้ป่วยในร่างการ เช่นโรคตา โรคหู จมูก ปากและผิวหนัง
๕. สันตาปทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากความกระวนกระวายใจ ความเร่าร้อนใจเพราะถูกกิเลส คือ ราคะ(ความกำหนัด) โทสะ (ความประทุษร้าย) โมหะ (ความหลงเผาใจ)
๖. วิปริณามทุกข์ ความแปรปรวนเปลี่ยนไปจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น มีลาภ-เสื่อมลาภ มียศ-เสื่อมยศ มีสรรเสริญ-นินทา มีสุข-มีทุกข์
๗. วิปากทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากผลกรรม ทำให้ได้รับความพร้อมใจ เช่น ถูกลงอาญาได้รับความหายนะ
๘. อาหารปริเยฏฐิทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจาการแสวงหาอาหารมาเลี้ยงชีพจะต้องมีการแข่งขัน ตัดรอนกัน หรือหาไม่พอเลี้ยงชีพ
๙. วิวาทมูลกทุกข์คือทุกข์ที่เกิดจากการทะเลาะเบาะแว้งกันสู้คดีกัน รบกัน
๑o ทุกข์ขันธ์คือ ทุกข์รวมยอดหรือกองทุกข์ คือทุกข์ซึ่งเกิดจากขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
สมุทัย
สมุทัย(The cause of suffering) สาเหตุของทุกข์ ได้แก่
“ตัณหา” ความดิ้นรน ทะยานอยากของจิตใจ
แบ่งเป็น ๓ ชนิด คือ
ก. กามตัณหา คือความอยากได้มิได้หมายถึงเฉพาะเรื่องเพศหรือ กามารมย์ หมายถึงอยากที่จะได้สิ่งต่างๆ มา สนองความพอใจ
ข. ภวตัณหา คือความอยากมีอยากเป็น
ค. วิภวตัณหา คือความไม่อยากมีไม่อยากเป็น
นิโรธ
นิโรธ (The Cessation of suffering) คือภาวะแห่งการดับทุกข์ เมื่อทุกข์เกิดจากสาเหตุ ก็ย่อมดับได้ด้วยการดับสาเหตุ เมื่อมีความทุกข์เกิดอยากความอยากและความยึดมั่น เมื่อไม่มีความอยาก ความยึดมั่น ความทุกข์ก็ย่อมไม่มีค่อยๆ ลดความยึดมั่นลง ความสงบในใจก็ค่อยๆมีขึ้น
มรรค
มรรค (The way to cessation of suffering) คือหนทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือปฏิบัติตนเพื่อให้บรรลุถึงสัจธรรม
มรรคประกอบด้วยองค์ ๘ องค์
๑. สัมมาทิฎฐิ (Right understanding) ความเห็นชอบหมายถึงการเห็นและการเข้าใจ เช่น
เข้าใจอริยสัจ ๔ เข้าใจไตรลักษณ์ ช่วยให้สู่จุดหมายสูงสุด คือนิพพาน หลักธรรมข้อนี้สามารถนำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตประจำวันได้
๒.สัมมาสังกัปปะ (Right Intention) ดำริชอบ คือ ไม่ดำริหาความสุขสำราญ และเพลิดเพลินในรูป รส กลิ่น เสียง ดังนี้
-ดำริออกจากสิ่งที่ผูกพันให้เป็นทุกข์
-ดำริในทางไม่พยาบาท
-ดำริในทางไม่เบียดเบียน
๓.สัมมาวาจา (Right speech) วจีสุจริต ๔ ประการ
-ไม่พูดปด (มุสาวาท)
-ไม่พูดส่อเสียด (ปิสุณวาจา) พูดยุยงให้เกิดแตกแยกให้เกิด ความเกลียดชัง
-ไม่พูดคำหยาบ (ผรุสวาท) เช่น ไม่สุภาพ วาจาแข็งกร้าว
-ไม่พูดเหลวไหล (สัมผัปปลาปะ) พูดซุบซิบนินทา
๔ สัมมากัมมันตะ (Right action) การกระทำชอบ ได้แก่ การสุจริต ๓ ประการ
-ไม่ฆ่าสัตว์
-ไม่ลักทรัพย์
-ไม่ประพฤติผิดในกาม
๕. สัมมาอาชีวะ (Right Livelihood) เลี้ยงชีวิตชอบเลี้ยงชีวิตสุจริตในทางถูกธรรมเนียมทั้งทางโลก ไม่ผิดกฎหมาย และทางธรรมไม่ผิดศีล
๖. สัมมาวายามะ (Right Effort) พยายามชอบ คือ
-พยายามที่จะป้องกันความชั่วไม่ให้เกิดขึ้น (สังวรปธาน)
-พยายามที่จะกำจัดความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วให้หมด (ปหานปธาน)
-พยายามที่จะสร้างความดีที่ยังไม่เกิดขึ้น (ภาวนาปธาน)
-พยายามรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม (อนุรักขนาป ธาน)
๗. สัมมาสติ (Right mindfulness) ระลึกชอบ ได้แก่ระลึกการอันทำให้สงบจากราคะ โทสะ โมหะ
๘. สัมมาสมาธิ (Right Concentration) ตั้งจิตมั่นชอบคือ ความมั่นคงของจิต การที่จิตแน่วแน่กับสิ่งเดียว ไม่ฟุ้งซ่านส่ายไปส่ายมาจนเกิด “เอกัคคตา” การยึดจิตให้ละเอียด ดังนี้
ก. ปฐมฌาน ประกอบด้วย วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข และ เอกัคคตา
ข. ทุติยฌาน ประกอบด้วย ปิติ สุข และเอกัคคตา
ค. ตติยฌาน ประกอบด้วย สุขและเอกัคคตา
จตุตถฌาน ประกอบด้วย อุเบกขาและเอกัคคตา
มรรค ๘ แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม เรียกว่า ไตรสิกขา ศีล
-สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ-ศีลควบคุมกาย-สะอาด สมาธิ
-สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ-สมาธิ ควบ คุมใจ-สงบ
ปัญญา
-สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ-ปัญญา ควบคุมความคิด-สว่าง